หมอนปูแป้ง หนึ่งในของที่ระลึกอัตลักษณ์ของนาเชือก
หน่วยปฏิบัติการวิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การบรรเทา และการปรับตัว (CMARE) ร่วมกับคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาวิชาเกาหลี และภูริชญาผ้าไหม (ขามเรียง) พัฒนาต้นแบบหมอนปูแป้ง เพื่อสะท้อนอัตลักษณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติของพื้นที่บริเวณป่าดูนลำพัน บ้านนาเชือก หมู่ที่ 1 ตำบลนาเชือก อำเภอนาเชือก จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งเป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมแห่งเดียวของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในประกาศกระทรวงฉบับที่ 7 เมื่อปี พ.ศ. 2539 ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 และแหล่งศึกษาธรรมชาติที่สำคัญของพื้นที่อำเภอนาเชือก ทั้งนี้ ได้ถ่ายทอดสู่การพัฒนาเป็นของที่ระลึก เพื่อสร้างความตระหนักและรับรู้ถึงคุณค่าด้านทรัพยากรธรรมชาติเฉพาะแหล่ง รวมถึงการสร้างความภาคภูมิใจของคนในพื้นที่ ในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติร่วมกันอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังเชื่อมให้เกิดการสร้างรายได้ของชุมชน นอกจากนี้ ยังเป็นการบูรณาการภูมิปัญญาและประสบการณ์การย้อมสีธรรมชาติในพื้นที่กับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหมบ้านห้วยทราย ซึ่งมีนางบุญเที่ยง คำยอดแก้ว เป็นประธานฯ ที่ได้นำเอาเปลือกของต้นเชือกหรือรกฟ้า ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้ที่เกี่ยวข้องกับที่มาของคำว่านาเชือก มาใช้ในการย้อมสีผ้าที่เป็นอัตลักษณ์ของพื้นที่อีกเฉดสีหนึ่ง และใช้ในวัตถุดิบหนึ่งในการสร้างสีสันให้กับหมอนปูแป้ง ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ชุมชน ปัจจุบัน วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรอินทรีย์และการแปรรูปผลิตภัณฑ์ริมอ่างห้วยค้อ อ.นาเชือก จ.มหาสารคาม เป็นผู้ผลิตหมอนปูแป้ง และวางจำหน่ายในหลายพื้นที่ของอำเภอนาเชือก สนใจหมอนปูแป้ง ติดต่อ คุณวิลาวรรณ พิพัฒน์ชัยกร ประธานกลุ่ม เบอร์โทร 08 1738 4645
ที่มา: CMARE
ข่าว: หน่วยปฏิบัติการวิจัย CMARE
ณ วันที่ : 12 กรกฏาคม 2565