เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2567 ณ บ้านซุมแซง ต.ท่าขอนยาง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ โดยหน่วยปฏิบัติการวิจัยการวิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การบรรเทา และการปรับตัว (CMARE) โดย ดร.ธายุกร พระบำรุง ในฐานะผู้อำนวยการหน่วยฯ ได้จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “ขามเรียงโมเดล: การแปรรูปฟางข้าวเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน” ซึ่งเป็นโครงการนำร่องของหน่วยวิจัยฯ ที่เกิดจากการบูรณาการความร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตร ประกอบด้วย ศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว หน่วยงานร่วมมหาวิทยาลัยขอนแก่น ศูนย์วิจัยเครื่องจักรกลเกษตรและวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว (รศ.ดร.ชัยยันต์ จันทร์ศิริ ผู้อำนวยการฯ) มหาวิทยาลัยขอนแก่น ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) และเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ภาคอีสาน ทั้งนี้ รศ.ดร.อดิศักดิ์ สิงห์สีโว คณบดีคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้เป็นเกียรติในการเปิดโครงการ โครงการนี้ มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจให้กับกลุ่มเกษตรกร ในการจัดการหลังการเก็บเกี่ยววัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรสู่ผลิตภัณฑ์แปรรูปมูลค่าสูง 2) เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้และผลการวิจัยของศูนย์นวัตกรรมหลังการเก็บเกี่ยว กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่บูรณาการสู่ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร และ 3) เพื่อบูรณาการองค์ความรู้และนวัตกรรมเทคโนโลยีการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวสู่การสร้างธุรกิจทางสังคมให้กับกลุ่มเกษตรกร โดยมีผู้เข้าร่วม ได้แก่ เกษตรกรผู้สนใจ เจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลขามเรียง นายกเทศบาลตำบลโคกก่อ ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ เกษตรอำเภอกันทรวิชัย และปศุสัตว์อำเภอกันทรวิชัย รวมถึงนักวิจัย และนิสิตจากคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ ในการอบรมครั้งนี้ ภาคเช้า เป็นการบรรยาย หัวข้อ “โอกาสทางธุรกิจด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนและแนวทางการลงทุนธุรกิจ” โดย อาจารย์วจนะ ภูผานี อาจารย์พิเศษ คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี (KKBS) มหาวิทยาลัยขอนแก่น และหัวข้อ “การยกระดับฟางข้าวเหลือทิ้งเพื่อเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร” โดย ผศ.ไพบูลย์ บุบผา คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี พร้อมสาธิตการใช้งานเครื่องขึ้นรูปภาชนะโดยระบบไฟฟ้า และภาคบ่าย เป็นการระดมสมองเพื่อวิเคราะห์ SWOT บริบทชุมชนบ้านขามเรียงและเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน สู่การจัดการเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรและโอกาสของฟางข้าวและเปลือกมะขามสู่การเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปและศูนย์การเรียนรู้ชุมชน โดยคุณมาลี สุปันตี เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ภาคอีสาน และ ดร.ธายุกร พระบำรุง ซึ่งจากบทเรียนจากการระดมสมอง จะเป็นจุดเชื่อมโยงพลังของกลุ่มเกษตรกร ตำบลขามเรียง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม ประกอบด้วย วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์บ้านเขียบ ม.17 ซึ่งอยู่บ้านเลขที่ 16 หมู่ 17 ตำบลขามเรียง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม พร้อมด้วย 5 ภาคีเครือข่าย คือ วิสาหกิจชุมชนคนกสิกรรมตำบลขามเรียง วิสาหกิจชุมชนคนรักษ์เกษตรกันทรวิชัย วิสาหกิจชุมชนหมู่บ้านเกษตรกรรมการยั่งยืนบ้านดอนมัน วิสาหกิจชุมชนเกษตรพอเพียง และวิสาหกิจชุมชนผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติขามเรียง ในการเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบเหลือใช้ทางการเกษตร จากฐานทุนทรัพยากรในชุมชนที่บูรณาการกับภูมิปัญญาและอัตลักษณ์ของชุมชน ภายใต้การสนับสนุนจากเครือข่ายพันธมิตร เพื่อยกระดับสู่การเป็นต้นแบบศูนย์การเรียนรู้และเศรษฐกิจชุมชนโดยการบริหารจัดการโดยชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป
ภาพและข่าว : คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มมส / ดร.ธายุกร พระบำรุง
เผยแพร่โดย : ชลทิตย์ สีเทา
ณ วันที่ : 8 ตุลาคม 2567