เครือข่ายหน่วยปฏิบัติการวิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การบรรเทา และการปรับตัว (CMARE) ร่วมกับนักวิจัยจากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณะการบัญชีและการจัดการ และคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ดำเนินโครงการ “การพัฒนาระบบการจัดการข้อมูลดิจิทัล เพื่อสนับสนุนการจัดการเรียนการสอน แบบสหวิทยาการ สู่การปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ปี 2 ต่อเนื่องจากโครงการ “การจัดการองค์ความรู้ท้องถิ่นสำหรับเยาวชน สู่การปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืน” ปี 1 ซึ่งมุ่งเน้นการยกระดับศักยภาพของครูและเยาวชนโรงเรียนโคกก่อพิทยาคม และโรงเรียนนาเชือกพิทยาสรรค์ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน ในการพัฒนาความรู้และความเข้าใจสถานะปัจจุบันด้านทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิต ประเพณี และการประกอบอาชีพ รวมถึงรับทราบการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลต่อคุณภาพดินและน้ำ ที่เชื่อมโยงกับสภาพภูมิอากาศ และสามารถสกัดคุณค่าของภูมิทรัพยากรธรรมชาติ สู่การพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีอัตลักษณ์เฉพาะถิ่นที่สามารถแข่งขันทางการตลาดได้ สอดรับกับการผลักดันสู่เศรษฐกิจโมเดลใหม่ (Bio-Circular-Green Economy หรือ BCG) และสามารถวิเคราะห์ตลาดและทำแผนการตลาดได้ ร่วมกับการใช้ระบบการจัดการข้อมูลดิจิทัลที่พัฒนาขึ้น เพื่อเป็นเครื่องมือ ในพัฒนาศักยภาพของเยาวชน สำหรับเตรียมพร้อมสู่การเป็นยุวผู้ประกอบการ รวมถึงการขยายผลการดำเนินการไปยังโรงเรียนในเครือข่ายที่สนใจ โดยจะจัดให้มีกิจกรรมสะท้อนบทเรียนของโรงเรียนนำร่อง และการสาธิตการใช้ระบบข้อมูล ผ่่านการอบรมออนไลน์อีกครั้ง เพื่อเปิดโอกาสให้ครูผู้สอนในโรงเรียนต่าง ๆ ที่อยู่ในตำบลโคกก่อและอำเภอนาเชือก ซึ่งรายละเอียดของคู่มือหลักสูตรท้องถิ่นครอบคลุมไว้แล้ว ได้ร่วมเรียนรู้และนำเอาระบบการจัดการข้อมูลดิจิทัลและสื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ไปใช้ประโยชน์ในการจัดการเรียนและการสอน ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ในหลักสูตรท้องถิ่นที่สามารถใช้ในบริบทของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด19 และจากการดำเนินการที่ผ่านมา ครูและนักเรียนของโรงเรียนนำร่อง ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สะท้อนอัตลักษณ์ด้านพื้นที่และพร้อมจำหน่ายดังนี้
โรงเรียนโคกก่อพิทยาคม
พริกจินดาดอง 3 รส สูตรต้นตำรับโคกก่อ (ผสมกระชาย เสริมฤทธิ์ต้านโควิด19)
เรื่องเล่า: พริกจินดา เป็นพริกที่ขึ้นชื่อที่สุดของตำบลโคกก่อที่มีรสชาติเผ็ดและเป็นเอกลักษณ์ที่สอดรับกับสภาพดินและน้ำของพื้นที่แห่งนี้
โรงเรียนนาเชือกพิทยาสรรค์
สบู่สมุนไพรรกฟ้า สูตรผสานภูมิปัญญาท้องถิ่น
เรื่องเล่า: รกฟ้าหรือต้นเชือกเป็นไม้พื้นถิ่นที่เกี่ยวข้องและผูกพันกับพื้นที่นาเชือกและมีคุณค่าทางสมุนไพรในด้านการต้านแบคทีเรียที่สามารถนำมาผสมผสานกับสมุนไพรท้องถิ่น จนเกิดเป็นสบู่สมุนไพรสูตรภูมิปัญญาในตำรับเฉพาะของพื้นที่นาเชือกดินแดนที่พบปูทูลกระหม่อมได้แห่งเดียวในโลก
ณ วันที่ : 12 สิงหาคม 2564