เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา ศาสตราจารย์ ดร. อนงค์ฤทธิ์ แข็งแรง รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน วิจัย และนวัตกรรม ปฏิบัติหน้าที่แทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ร่วมพิธีลงนามในบันทึกความเขัาใจภาคีความร่วมมือวิจัยบรรยากาศแห่งประเทศไทย ฉบับที่สอง ในรูปแบบออนไลน์ ระหว่างภาคีวิจัยฯ และกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีศักยภาพ มีความเชี่ยวชาญทางด้านการพยากรณ์อากาศ การรายงานปรากฏการณ์ธรรมชาติต่าง ๆ ทั้งยังมีความพร้อมด้านอุปกรณ์เครื่องมือและข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการดำเนินงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง หลังจากได้ลงนามจัดตั้งด้วยบันทึกความเข้าใจฉบับแรกเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 มุ่งหมายเสริมศักยภาพการวางแผนร่วมกัน เพื่อบูรณาการกำลังคนและทรัพยากรทางการวิจัย เตรียมเสนอแผนที่นำทางของการวิจัยที่เชื่อมโยงกับการศึกษาค้นคว้า หาสาเหตุที่มาของคุณภาพอากาศ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เจาะลึกถึงต้นตอของปัญหา PM2.5 และภัยพิบัติทางธรรมชาติในประเทศไทย โดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เป็นแกนนำระดมคณาจารย์ นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญจาก 3 องค์การมหาชน 2 หน่วยงานรัฐ 23 มหาวิทยาลัย และ 1 สมาคม ทั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อร่วมกันจัดทำแผนที่นำทางของการวิจัยแบบบูรณาการ บูรณาการวิจัยบรรยากาศที่เชื่อมโยงกับการศึกษาคุณภาพอากาศของประเทศไทยและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ จัดสร้างห้องปฏิบัติการกลางที่มีเครื่องมือที่ทันสมัยพร้อมที่จะสนับสนุนการวิจัย บรรยากาศ พัฒนาระบบฐานข้อมูล สร้างนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์บรรยากาศ สร้างเครือข่ายความร่วมมือทั้งในและต่างประเทศ พัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยบรรยากาศ และผลักดันให้มีการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้จริง โดยเบื้องต้น ได้มีการกำหนดหัวข้อ เพื่อเป็นแนวทางในการทำวิจัยบรรยากาศร่วมกัน ดังนี้ 1. Atmospheric Chemistry 2. Atmospheric Physics 3. Instruments & Monitoring 4. Inventory & Modeling และ 5. Atmospheric Impact โดยมหาวิทยาลัยมหาสารคาม หน่วยปฏิบัติการวิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การบรรเทา และการปรับตัว สังกัดคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ ดำเนินการเป็นผู้ประสานงานระหว่างภาคีเครือข่าย
ข่าว: ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ
ภาพ: สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
ณ วันที่ : 9 สิงหาคม 2564