สถาบันลูกโลกสีเขียว ปตท. ได้จัดกิจกรรมสรุปบทเรียนของโรงเรียนข่าย ในชื่อโครงการสานพลังงานครูภูมิปัญญาพัฒนาหลักสูตรสิ่งแวดล้อม เสริมสร้างการเรียนรู้เด็กและเยาวชนปื 3 ระหว่างวันที่ 2-3 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา ณ มูลนิธิพัฒนาอีสาน (NET) ต.ตาอ็อง อ.เมือง จ.สุรินทร์ โดยมี ดร.ธายุกร พระบำรุง รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ ในฐานะคณะกรรมการภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนใต้ เข้าร่วมหารือ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และร่วมถอดบทเรียน ซึ่งมีโรงเรียนในเครือข่ายกว่า 13 โรงเรียนเข้าร่วม ได้แก่ โรงเรียนบ้านหนองกระทุ่ม (ชุมนุมรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) ต.หนองบัวสะอาด อ.บัวใหญ่ จ.นครราชสีมา โรงเรียนศรีแก้วประชาสรรค์ (ศรีแก้วศึกษา) ต.ศรีแก้ว อ.เลิงนกทา จ.ยโสธร โรงเรียนบ้านวังโพน (โรงเรียนปลอดขยะ ใส่ใจรักษ์สิ่งแวดล้อม น้อมนำเศรษฐกิจพอเพียง) ต.เขวาไร่ อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม โรงเรียนบ้านอีเซ (คุรุราษฎร์วิทยา) (การอนุรักษ์และพัฒนาใช้ประโยชน์จากมะดันป่าอย่างยั่งยืน) ต. อีเซ อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ จ.ศรีสะเกษ โรงเรียนชุมชนบ้านหายโศก (การย้อมผ้าด้วยผลมะเกลือ) ต.หายโศก อ.พุทไธสง จ.บุรีรัมย์ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 29 (ผ้ามัดย้อมจากเปลือกไม้มะดันป่า) จังหวัดศรีสะเกษ โรงเรียนปลาค้าววิทยานุสรณ์ (โครงการหลักสูตรท้องถิ่นสิ่งแวดล้อมศึกษา โรงเรียนปลาค้าววิทยานุสรณ์) ต.ปลาค้าว อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ โรงเรียนบ้านนาหว้าใต้ (ป่าชุมชน ภู หิน เหล็ก ไฟ) ต.สำโรง อ.โพธิ์ไทร จ.อุบลราชธานี และโรงเรียนลำดวนพิทยาคม (ผลิตภัณฑ์จากว่างจูงนาง) ต.ลำดวน อ.กระสัง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งในการพัฒนากิจกรรมของแต่ละโรงเรียน เป็นผลจากการสังเคราะห์จากฐานทุนทรัพยากรธรรมชาติ วิถีชีวิตของชุมชน เรื่องราวที่สั่งสมของครูภูมิปัญญา และประเพณีและวัฒนธรรมในท้องถิ่น ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะของพื้นที่ สู่การสร้างเป็นบทเรียน ในรูปแบบหลักสูตรท้องถิ่นที่ได้บูรณาการกับสาระตามมาตรฐานการเรียนรู้ของนักเรียนในระดับชั้นต่าง ๆ โดยเฉพาะและขยายผลเป็นผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นทั้งตำบล อำเภอ และจังหวัด เกิดเป็นรายได้ โดยมีชุมชนได้ร่วมเรียนรู้และรับประโยชน์จากกิจกรรมต่าง ๆ ผ่านการจัดการองค์ความรู้ (Knowledge Management) โดยเป็นจุดเริ่มต้นของการผลักดันให้เกิดเศรษฐกิจโมเดลใหม่ BCG (Bioeconomic Circular Economy และ Green Economy) การค้นหาสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ของท้องถิ่น เพื่อเตรียมความพร้อมด้านการแข่งขันทางการตลาด และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Suitable Development Goals) ซึ่งพิจารณาทั้งมิติด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ โครงการนี้ นับเป็นการพัฒนาการเรียนรู้ ที่มุ่งเน้นให้เยาวชนเข้าใจบริบทของตนเองและดึงอัตลักษณ์ของชุมชน ร่วมกับการพัฒนาทักษะที่ร่วมสมัยใหม่ เพื่อสร้างการเรียนรู้ให้สอดรับกับศตวรรษที่ 21 และพร้อมปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น และต้องการขยายเครือข่ายไปยังโรงเรียนที่สนใจในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ข่าว: ดร.ธายุกร พระบำรุง
ภาพ: สถาบันลูกโลกสีเขียว ปตท.
ณ วันที่ : 18 ตุลาคม 2563