หลักสูตรสาขาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยคณะดำเนินการภาคประชาชนและบัณฑิตจบใหม่ ดำเนินการภายใต้โครงการ U2T
ตำบลตลาด อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม ได้สำรวจพื้นที่ เก็บข้อมูล และตรวจวัดคุณภาพน้ำเบื้องต้น ประกอบด้วย อุณหภูมิ (Temperature) ค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) ค่าการนำไฟฟ้า (Electrical Conductivity) และค่าออกซิเจนละลาย (DO) ในวันที่ 9 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยมีทั้งหมด 4 จุดตรวจวัด ได้แก่ หนองกระทุ่ม (ชุมชนโพธิ์ศรี) ห้วยคะคาง กุดนางใย และคลองสมถวิล เมื่อเปรียบเทียบกับมาตรฐานคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดิน ตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 เรื่อง กำหนดมาตรฐานคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดิน พบว่า ทั้งสามตัวแปร ได้แก่ อุณหภูมิ (Temperature) และค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) เป็นไปตามมาตรฐานแหล่งน้ำประเภทที่ 3 ทั้ง 4 จุด สำหรับกุดนางใย และคลองสมถวิล พบว่า มีกลิ่นทั้งสองจุด เนื่องจากมีการระบายน้ำทิ้งลงสู่แหล่งน้ำโดยตรง และยังพบว่า ณ จุดตรวจวัดคลองสมถวิล มีค่าออกซิเจนละลาย (DO) ต่ำกว่ามาตรฐาน ในขณะที่หากพิจารณาคุณภาพของน้ำ โดยเปรียบเทียบกับแหล่งน้ำประเภทที่ 2 เนื่องด้วยยังพบเห็นวิถีชีวิตการหาปลาที่ใช้แหล่งน้ำดังกล่าว พบว่า ห้วยคะคาง กุดนางใย และคลองสมถวิล มีค่าออกซิเจนละลาย (DO) ที่ต่ำกว่ามาตรฐาน จึงจำเป็นต้องมีมาตรการการบริหารจัดการแหล่งน้ำอย่างเร่งด่วน โดยต้องเกิดจากกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งนี้กุดนางใย และคลองสมถวิล นับเป็นอัตลักษณ์เชิงพื้นที่ที่สำคัญของชุมชนศรีสวัสดิ์ 3 และอุทัยทิศ2 ตามลำดับ อีกทั้งยังเป็นสถานที่จัดกิจกรรมและท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมวิถีชุมชนเมืองของตำบลตลาดที่ทุกคนต้องตระหนักถึงคุณค่า ใช้ประโยชน์ ดูแลและรักษาคุณภาพน้ำที่ดีอย่างยั่งยืน
ที่มา: หลักสูตรสาขาวิชาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม
ณ วันที่ : 16 สิงหาคม 2565