ลงพื้นที่ เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของเยาวชน จากทุนฝีมือแรงงาน สู่การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของอำเภอนาเชือก
เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2565 ดร.ธายุกร พระบำรุง อาจารย์หลักสูตรสาขาวิชาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่ร่วมกับครูรัชนี เปาะศิริ พร้อมด้วยนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.5) โรงเรียนนาเชือกพิทยาสรรค์ เพื่อร่วมต้อนรับสมาคมส่งเสริมผ้าไทยจังหวัดมหาสารคาม ที่ได้ลงเยี่ยมพื้นที่อำเภอนาเชือกเป็นแห่งแรก ทั้งนี้ ได้ร่วมสะท้อนบทเรียนในการพัฒนาพื้นที่อำเภอนาเชือก ในฐานะเป็นผู้เชื่อมประสานความร่วมมือสหวิทยาการจากหลายหน่วยงาน ที่มุ่งเน้นการนำเอาอัตลักษณ์ของพื้นที่มาสื่อสารและสร้างการรับรู้สาธารณะ สู่การสร้างเศรษฐกิจและสังคมรากหญ้าที่บูรณาการกับมิติด้านสิ่งแวดล้อม โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน ตลอดจนได้ร่วม สังเกตการณ์ในหลายพื้นที่ ได้แก่ บ้านกุดน้ำใส (กลุ่มอาชีพทอผ้า) และบ้านเหล่าค้อ (กลุ่มปลูกมะม่วง) ซึ่งกิจกรรมหลัก คือ การเก็บข้อมูลประวัติความเป็นมาของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหมบ้านห้วยทราย การศึกษากรรมวิธีการย้อมสีผ้าทอมือจากเปลือกของต้นเชือก ซึ่งเป็นพรรณไม้ที่มีความเกี่ยวข้องกับที่มาของคำว่านาเชือก “พื้นที่นา ที่มีต้นเชือกอยู่จำนวนมาก” จึงได้ริเริ่มให้นำเอาเปลือกของต้นเชือก มาสร้างอัตลักษณ์ของสีย้อมขึ้น โดยนักเรียน ได้ร่วมสัมภาษณ์แม่บุญเที่ยง คำยอดแก้ว (ประธานวิสาหกิจฯ) และการสาธิตการย้อมสีจากเปลือกของต้นเชือก โดยคุณกาญจณี คำยอดแก้ว ทั้งนี้ นักเรียน ได้ศึกษา ตรวจวัดคุณภาพน้ำเบื้องต้น โดยเครื่องมือที่ได้รับการสนับสนุนจากคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ จดบันทึกข้อมูล และจัดทำเป็นเล่มรายงาน ซึ่งได้บูรณาการในการจัดการเรียนและการสอนในกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ ที่ต้องเข้าใจถึงเคมีน้ำ ที่มีผลต่อคุณภาพของการย้อมสีผ้า น้ำทิ้งก่อนบำบัด การเกิดของเสียและการหมุนเวียนใช้ในกระบวนการย้อมสีธรรมชาติ เพื่อวางแนวทางในการพัฒนาระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม สำหรับวิสาหกิจชุมชนให้มีประสิทธิภาพและเป็นระบบต่อไป
ภาพและข่าว : หลักสูตร วท.บ. สาขาวิชาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม / อ.ดร.ธายุกร พระบำรุง
เผยแพร่โดย :คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ / ชลทิตย์ สีเทา