ทูลเกล้าถวาย “ผ้าทอมือสีย้อมจากเมล็ดมะขาม ลายดอกผักติ้ว นวัตกรรมผ้าทออัตลักษณ์บ้านขามเรียง ต.ขามเรียง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม”
เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ โดย อาจารย์ ดร.ธายุกร พระบำรุง รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้แทนชุมชน พร้อมด้วยนางสุชญา โคตรวงษ์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าทอมือสีย้อมธรรมชาติขามเรียง ได้ทูลเกล้าถวายผ้าทอสีย้อมจากเมล็ดมะขาม ลายดอกผักติ้ว (ลายประจำอำเภอกันทรวิชัย) ที่เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจของสมาชิกในกลุ่ม ในการย้อมและทอผ้าผืนนี้ ในโอกาสงานพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ประจำปีการศึกษา 2563-2564 มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งนวัตกรรมผ้าทอสีย้อมธรรมชาตินี้ เกิดจากภูมิปัญญาและประสบการณ์ด้านการย้อมสีและทอของกลุ่มฯ ที่สั่งสมมากว่า 30 ปี ที่ได้เชื่อมกับรากฐานความเป็นมาและทรัพยากรชีวภาพในท้องถิ่นเป็นครั้งแรก เพื่อสะท้อนและฟื้นฟูอัตลักษณ์บ้านขามเรียง (ขาม คือ มะขาม และเรียง คือ การเรียงกัน) ให้เกิดการรับรู้สาธารณะ และด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและประสงค์จะอนุรักษ์รากฐานความเป็นมาของ ต.ขามเรียง ศิลปหัตถกรรม และภูมิปัญญาด้านการย้อมและทอผ้า เพื่อสนองพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการสืบสานและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น มิให้สูญหาย อีกทั้งยังเป็นการต่อยอดให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจรากฐานที่มีอัตลักษณ์เฉพาะที่มีเรื่องราวและพร้อมแข่งขันทางการตลาด โดยคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ ได้ยกระดับศักยภาพของกลุ่มฯ ผ่านการดำเนินโครงการบริการวิชาการเชิงบูรณาการ เพื่อพัฒนาชุมชนต้นแบบด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ สู่การยกระดับเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางเศรษฐกิจโมเดลใหม่ (BCG Economy Model) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 โดยใช้ชื่อโครงการว่า “การใช้เศรษฐกิจโมเดลใหม่ (BCG Economy Model) เพื่อพัฒนาศักยภาพของชุมชนจากอัตลักษณ์ท้องถิ่น ทรัพยากรธรรมชาติ และวัฒนธรรม พื้นที่นำร่อง: วิสาหกิจชุมชนผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติขามเรียง” ซึ่งเป็นการดำเนินการในรูปแบบสหวิทยาการ ที่ความร่วมมือกันทั้งภายในและนอกคณะ ซึ่งได้น้อมนำเอาปรัญญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาบูรณาการในโครงการครั้งนี้ โดยมุ่งเน้นให้ชุมชน ได้เกิดความเข้าใจทุนวัฒนธรรมและทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น และสามารถนำสร้างอัตลักษณ์ ฟื้นฟู รากฐานความเป็นมา จนเกิดการรับรู้ ตระหนักถึงคุณค่า และสร้างสรรค์ สู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากจากฐานทรัพยากรชีวภาพที่เป็นจุดขายทางการตลาด ที่สอดรับกับการพัฒนาเศรษฐกิจโมเดลใหม่ (BCG Economy Model) และเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ที่พิจารณาทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมควบคู่กัน ตลอดจนเปิดโอกาสให้นิสิตของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้มีส่วนร่วมและเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาชุมชนที่อยู่ใกล้มหาวิทยาลัยมหาสารคาม สอดรับกับการส่งเสริมเอกลักษณ์ของมหาวิทยาลัยมหาสารคามที่ว่า “การเป็นที่พึ่งของสังคมและชุมชน” ที่จะเกิดประโยชน์และความภาคภูมิใจร่วมกัน
สมุดเล่มเล็ก เรื่องราวของผ้าทอมือสีย้อมจากเมล็ดมะขาม ลายดอกผักติ้ว:
https://drive.google.com/file/d/10Pdz-Iz3R1c9Sc834hCpEYS9qjPyOU1z/view?usp=sharing
สนใจผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือสีย้อมธรรมชาติ สอบถามได้ที่
นางสุชญา โคตรวงษ์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าทอมือสีย้อมธรรมชาติขามเรียง
เบอร์โทร 08 4514 6994
ภาพข่าว : คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ / อ.ดร.ธายุกร พระบำรุง
เผยแพร่ข่าวโดย : ชลทิตย์ สีเทา
ณ วันที่ : 30 เมษายน 2565