สมัชชาพัฒนาระบบอาหารปลอดภัยเพื่อสุขภาวะในโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจังหวัดมหาสารคาม ได้จัดประชุมสะท้อนบทเรียนของเครือข่าย ซึ่งรวมถึงการจัดเสวนาและจัดนิทรรศการ ในวันที่ 26-27 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา ณ บ้านสวนซุมแซง หมู่ 7 ต.ท่าขอนยาง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม โดยมี ดร.ธายุกร พระบำรุง รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ ในฐานะเครือข่ายส่วนของสถาบันการศึกษา ได้เข้าร่วมกิจกรรม เพื่อเชื่อมการสนับสนุนไปยังศูนย์วิจัย/หน่วยปฏิบัติการวิจัย/หน่วยบริการวิชาการ สังกัดคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ ในด้านการให้บริการวิชาการและวิจัย โดยปัจจุบัน การปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมการผลิตและการบริโภค เป็นสาเหตุให้เกษตรกร ใช้สารเคมีในการทำการเกษตรมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อทั้งตัวเกษตรกร ผู้ผลิตภัณฑ์ และผู้บริโภค การขยายตัวของผู้ประกอบการ จำหน่ายเคมีภัณฑ์ที่มาขอจดทะเบียนกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัด จำนวนไม่น้อยกว่า 250 แห่ง กระจายทั่วทุกอำเภอ จากการสุ่มตรวจสารเคมีอันตรายตกค้างในผักและผลไม้ 10 ชนิด ที่จำหน่ายในตลาดสด 2 แห่ง ของจังหวัดมหาสารคาม คือ ตลาดสดเทศบาลเมืองมหาสารคามและตลาดเกษตร พบว่า ผักที่นิยมบริโภคทั้ง 10 ชนิด มีสารเคมีการเกษตรตกค้างและมี 5 ชนิดที่มีค่าเกินมาตรฐาน ได้แก่ พริก มะเขือ กะเพรา ถั่วฟักยาว และหอม สอดคล้องกับการรายงานของการตรวนราชการรวมของเขตสุขภาพที่ 7 ในปี 2559 นอกจากนี้ การสะสมสารเคมี ยังสามารถตกค้างในดินและส่งผลกระทบผ่านห่วงโซ่อาหารด้วยอีกด้วย สำหรับเกษตรกรหรือหน่วยงานราชการใด ที่ประสงค์จะรับการบริการตรวจวิเคราะห์สมบัติทางกายภาพและเคมีของดิน วัสดุปรับปรุงดิน และปุ๋ยหมัก สามารถขอความอนุเคราะห์จากสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 จ.ขอนแก่น โดยขอรายละเอียดได้ที่เบอร์โทร 043246758 ซึ่งมีการบริการแบบไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือสามารถใช้บริการของห้องปฏิบัติการคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ โดยจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง ติดตามข่าวย้อนหลัง
https://www.facebook.com/citizenthaipbs/videos/823876468375677
ข่าว: ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ
ภาพ: โครงการพัฒนาระบบอาหารเพื่อสุขภาวะจังหวัดมหาสารคาม
เผยแพร่ข่าวโดย : ชลทิตย์ สีเทา
ณ วันที่ : 4 พฤศจิกายน 2563