กองทุนสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่ให้คำแนะนำ เพื่อกำหนดผลลัพธ์โครงการ “ดูนลำพันโมเดล” ให้เกิดความยั่งยืน
เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2563 คณะผู้ดำเนินการในโครงการพัฒนาศักยภาพพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าดูนลำพันเป็นศูนย์การเรียนรู้ดิจิทัลและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ โดยกระบวนการมีส่วนร่วมแบบองค์รวม หรือ “ดูนลำพันโมเดล” มุ่งเน้นผลลัพธ์ 4ปู คือ “ปูทูลกระหม่อม ปูรากฐานการอนุรักษ์และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ปูรากฐานเศรษฐกิจรากหญ้า และปูราฐานการศึกษาด้วยดิจิทัล” โดยได้ผ่านเกณฑ์การพิจารณาเบื้องต้น จากคณะอนุกรรมการการกลั่นกรองโครงการด้านทรัพยากรธรรมชาติ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการประชุมครั้งที่ 2/2563 ซึ่งโครงการนี้ ดำเนินการในแผนบูรณาการ และมีคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ เป็นหัวหน้าแผน ซึ่งได้บูรณาการร่วมมือนักวิจัยระหว่างศาสตร์ ได้แก่ สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม คณะวิทยาการสารสนเทศ สำนักคอมพิวเตอร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตศิลป์ คณะการบัญชีและการจัดการ คณะศิลปกรรมศาสตร์ และวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม หมู่บ้านนานาชาติ เปรมปรีดี จ.กาฬสินธุ์ องค์การบริหารส่วนตำบลนาเชือก และโรงเรียนนาเชือกพิทยาสรรค์ และหน่วยงานราชการ ได้แก่ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดมหาสารคาม ทั้งนี้ คณะผู้ดำเนินโครงการ ทั้งสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐในท้องถิ่น และภาคชุมชน ได้ร่วมลงพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าดูนลำพัน เพื่อต้อนรับคณะผู้ทรงคุณวุฒิ จากกองทุนสิ่งแวดล้อม และรับฟังข้อเสนอแนะ สำหรับนำไปปรับปรุงรายละเอียดในข้อเสนอโครงการให้เกิดผลลัพธ์ที่ยั่งยืน โดยทุกภาคส่วน มีส่วนร่วมในการกำหนดเป้าหมายทั้งระยะสั้น กลาง และยาวอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเพิ่มศักยภาพของพื้นที่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ดิจิทัลในศตวรรษที่ 21 ที่ครบวงจร มีความร่วมสมัยและผนวกกับภูมิปัญญาท้องถิ่น ทั้งด้านทรัพยากรธรรมชาติ ประเพณี และศิลปวัฒนธรรม มีการจัดการข้อมูลสารสนเทศอย่างเป็นระบบ การพัฒนา Bigdata สำหรับการวิจัย การดำเนินการตามแนวทางของโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG) และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goal; SDG) เป้าหมายที่ 15 ซึ่งมุ่งเน้นการปกป้อง ฟื้นฟูและสนับสนุนการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน จัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ต่อสู้การกลายสภาพเป็น ทะเลทราย หยุดการเสื่อมโทรมของที่ดินและฟื้นสภาพกลับมาใหม่และ หยุดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งนี้ สามารถติดตามข้อมูลได้ที่เพจ “ปูแป้งแบ่งปัน”
https://www.facebook.com/dunlamphanmodel/
ข่าว: หน่วยปฏิบัติการวิจัย CMARE
ภาพ: คณะดำเนินงาน ดูนลำพันโมเดล
เผยแพร่โดย : ชลทิตย์ สีเทา
ณ วันที่ : 1 กันยายน 2563