เมื่อวันที่ 22-24 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา สำนักงานลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office for Disaster Risk Reduction; UNDRR ) ได้จัดอบรม “Training of Trainers on Urban Resilience and Making Cities Resilient” ณ เมืองอินชอน ประเทศเกาหลี ซึ่งมีผู้เข้าร่วม ประกอบด้วย คณะผู้บริหารและคณะทำงาน กรุงเทพมหานคร กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และผู้แทนจากจังหวัดมหาสารคาม (ภาคการศึกษาและท้องถิ่น) ได้แก่ รศ.ดร.ปิยภัทร บุษบาบดินทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเฉพาะทางนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อการจัดการภัยพิบัติลุ่มน้ำแบบบูรณาการ นายเศรษฐา เณรสุวรรณ นายอำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม นายภาคิน ติระพงศ์ไพบูลย์ นายกเทศมนตรีเมืองมหาสารคาม พร้อมด้วยนายธัชชัย ติระพงศ์ไพบูลย์ และ ดร.ธายุกร พระบำรุง ผู้อำนวยการหน่วยปฏิบัติการวิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การบรรเทา และการปรับตัว (CMARE) ในฐานะผู้ผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนกลไกเครือข่ายด้านภัยพิบัติ ภายใต้การสนับสนุนด้านเทคนิคจากเครือข่ายพัฒนาความเข้มแข็งต่อภัยพิบัติไทย (Thai Network for Disaster Resilience; TNDR) และสำนักงานลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office for Disaster Risk Reduction; UNDRR) โดยการอบรมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างกลุ่มผู้เชี่ยวชาญและสนับสนุนการพัฒนาความรู้และทักษะของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญในประเทศไทยเกี่ยวกับความยืดหยุ่นของเมืองด้านภัยพิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการใช้เครื่องมือวินิจฉัย เพื่อประเมินความก้าวหน้าของความยืดหยุ่นและระบุการดำเนินการหลัก เพื่อลดความเสี่ยง อีกทั้งเพื่อส่งเสริมการแบ่งปันประสบการณ์และการแลกเปลี่ยนระหว่างเทศบาล ที่เข้าร่วมและวางรากฐานโครงการฟื้นฟูสภาพเมืองในประเทศไทย ผ่านโครงการ Making Cities Resilient 2030 (MCR2030) ที่สอดรับกับการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) เป้าหมายที่ 11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน ซึ่งมุ่งเน้นการทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความปลอดภัย ทั่วถึง ยืดหยุ่น และยั่งยืน และเป้าหมายที่ 13 โดยแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างเร่งด่วน เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ โดยพื้นที่หาสารคาม มุ่งหวังจะพัฒนากลไกเชิงพื้นที่ร่วมกับการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลในการบริการจัดการข้อมูล สำหรับการพัฒนาศักยภาพของท้องถิ่นสู่เมืองอัจฉริยะที่ยืดหยุน ผ่านความร่วมมือสหวิทยาการ ซึ่งมีสถาบันการศึกษาเป็นพี่เลี้ยง โดยจะนำร่องในพื้นที่เมืองมหาสารคาม และพื้นที่กันทรวิชัย รวมถึงการทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย เพื่อยกระดับการบูรณาการความร่วมมือสู่การสร้างเมืองยืดหยุ่นในระดับเมืองต่อไป
ภาพและข่าว : คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มมส / ดร.ธายุกร พระบำรุง
เผยแพร่โดย : ชลทิตย์ สีเทา
ณ วันที่ : 7 เมษายน 2566