โรงเรียนนาเชือกฯ พัฒนาทักษะอาชีพ เพื่อปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
เครือข่ายนักวิจัยหน่วยปฏิบัติการวิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การบรรเทา และการปรับตัว (CMARE) นำคณะครูและนักเรียน โรงเรียนนาเชือกพิทยาสรรค์ ภายใต้โครงการการจัดการองค์ความรู้ท้องถิ่น สำหรับเยาวชน สู่การปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืน โดยความร่วมมือของคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์และคณะการบัญชีและการจัดการ รวมถึงภาคชุมชน ในโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาท้องถิ่น โดยมีสถาบันอุดมศึกษาเป็นพี่เลี้ยง เครือข่ายเพื่อการพัฒนาอุดมศึกษา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ซึ่งสนับสนุนโดยสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สป.อว) เข้าเยี่ยมชมศึกษาดูงาน ณ ศูนย์ความเป็นเลิศทางนวัตกรรมไหม ในวันที่ 24 ธันวาคม 2563 เวลา 09:00 -12:00 น. โดยโรงเรียนนี้ เป็นอีกหนึ่งโรงเรียนนำร่อง ที่คณะครูสหวิทยาการและชุมชน ได้ร่วมกันออกแบบหลักสูตรท้องถิ่นแบบบูรณาการ “การปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ครอบคลุมมิติด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม ที่จำเพาะกับบริบทของพื้นที่ตำบลนาเชือก โดยปัจจุบัน กลุ่มนักเรียน ได้ขับเคลื่อนนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ผนวกกับชุดความรู้ภูมิปัญญาและคุณค่าสมุนไพรในท้องถิ่น ซึ่งคือ เชือกหรือรกฟ้า (Terminalia alata Roth) สะท้อนอัตลักษณ์ของตำบลนาเชือก และเป็นผลิตภัณฑ์ของท้องถิ่นที่สร้างอาชีพและมีความพร้อมด้านการตลาด กิจกรรมการศึกษาดูงานครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมที่ 4 การพัฒนาผลิตภัณฑ์ ในเล่มหลักสูตรท้องถิ่น ซึ่งจะส่งเสริมทักษะด้านอาชีพให้กับเยาวชน สามารถสกัดคุณค่าต้นทุนทรัพยากรและวัฒนธรรมมาผสมผสานสู่การสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ที่สะท้อนอัตลักษณ์ของชุมชนของตนเอง รวมถึงการบูรณาการแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ปราศจากการใช้พลาสติก การคำนวณการปลดปล่อยคาร์บอน การสร้างแบรนด์ การคำนวณจุดคุ้มทุน การกำหนดกลุ่มลูกค้า กลไกทางการตลาด และความสามารถในการปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม
ข่าว: หน่วยปฏิบัติการวิจัย CMARE
ภาพ: ศูนย์ความเป็นเลิศทางนวัตกรรมไหม
ณ วันที่ : 1 มกราคม 2564