ขอขอบคุณ บริษัท ทราเวลเทคโนโลยี เซอร์วิส จำกัด (Travel Technology Services Co., Ltd.) ที่ให้การสนับสนุนงบประมาณ จำนวน 50,000 บาท เพื่อใช้ในการพัฒนาการเรียนรู้ของนิสิตระดับปริญญาตรี ในรูปของงานวิจัย ในหัวข้อ “การศึกษาความเป็นได้ในการผลิตภาชนะย่อยสลายได้ทางชีวภาพจากวัตถุดิบท้องถิ่น โดยใช้ความร้อนจากแสงอาทิตย์” ซึ่งมีผู้วิจัยคือ นายอดิศักดิ์ เขียวแข้ และนายวัชร ประโหมด นิสิตระดับปริญญาตรี ชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาการจัดการสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร โดยความร่วมมือด้านการวิจัยกับสถาบันวิจัยวลัยรุกเวช และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มมส. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ภายใต้ชุดโครงการบูรณาการหลักสูตร เรื่อง “การจัดการองค์ความรู้ท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมการเป็นแหล่งเรียนรู้และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่ยั่งยืน โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน กรณีของตำบลนาเชือก อำเภอนาเชือก จ.มหาสารคาม” ซึ่งบูรณาการความร่วมมือกับคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณะวิทยาการสารสนเทศ และคณะการบัญชีและการจัดการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าดูนลำพัน โรงเรียนนาเชือกพิทยาสรรค์ และองค์การบริหารส่วนตำบลนาเชือก ทั้งนี้ งานวิจัย ยังได้บูรณาการกับชุดความรู้ท้องถิ่น อาทิเช่น การใช้ยางจากมะตูม เป็นตัวประสานการขึ้นรูป ซึ่งให้กลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ อีกทั้งยังเป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณทางยา โดยงานวิจัยนี้ เป็นการพัฒนาองค์ความรู้พื้นฐาน เพื่อนำร่องสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยใช้ต้นทุนในท้องถิ่น ด้วยเทคโนโลยีที่ท้องถิ่น สามารถพัฒนาศักยภาพเองได้ นอกจากนี้ ยังเป็นการค้นหาวัสดุทดแทนการใช้พลาสติก ซึ่งเป็นปัญหาขยะที่วิกฤติอยู่ในปัจจุบัน และเป็นสร้างความตระหนักถึงคุณค่าและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติไปพร้อมกัน โดยหากวิสาหกิจชุมชนใด ที่อยู่ในพื้นที่ตำบลนาเชือก มีงบประมาณลงทุน และมีความสนใจที่จะพัฒนาเป็นแม่พิมพ์สำเร็จรูป เพื่อสร้างรายได้ จากฐานความรู้จากงานวิจัยชิ้นนี้ สามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ ดร.ธายุกร พระบำรุง ผู้อำนวยการหน่วยปฏิบัติการวิจัย CMARE เบอร์โทร 08 9401 9294
ข่าว/ภาพ: หน่วยปฏิบัติการวิจัย CMARE
ข้อมูลและข่าว : คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม/ดร.ธายุกร พระบำรุง
เผยแพร่ข่าวโดย : ชลทิตย์ สีเทา
ณ วันที่ : 30 เมษายน 2563