CMARE พัฒนาวางรากฐานระบบการจัดการสู่โรงเรียนปลอดขยะและคาร์บอนต่ำ โดยกระบวนการมีส่วนร่วมสำหรับโรงเรียนหัวเรือพิทยาคม
โรงเรียนหัวเรือพิทยาคม ได้วางระบบการจัดการขยะโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย สู่การเป็นโรงเรียนปลอดขยะและคาร์บอนต่ำ โดยการสนับสนุนด้านเทคนิคจากหน่วยปฏิบัติการวิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การบรรเทา และการปรับตัว (CMARE) สังกัดคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในรูปแบบการบริการวิชาการกึ่งวิจัย ซึ่งบูรณาการในรายวิชา 1705476 ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานสากล และได้ประยุกต์ระบบดังกล่าว เป็นฐานในการพัฒนากลไกการจัดการขยะของโรงเรียนแห่งนี้ ควบคู่กับการพัฒนาศักยภาพของนิสิต ในฐานะพี่เลี้ยง ประกอบด้วย 3 ทีม คือ โค้ชนำทาง (เป็นอยู่รู้ทัน) โค้ชชื้ทาง (คัดแยกแลกสุข) โค้ชให้ทาง (แบ่งปันปั้นทาง) จากการดำเนินการร่วมกับโรงเรียนหัวเรือพิทยาคม รวมถึงการพัฒนาศักยภาพของนักเรียนแกนนำ สู่การเป็นยุวนวัตกรโรงเรียนปลอดขยะ ทั้งด้านข้อมูลขยะ การกำหนดแนวทางการจัดการขยะ และการสื่อสารข้อมูล จากการสำรวจความเห็นของบุคลากรทั้งหมด 125 คน ซึ่งแบ่งเป็น ชาย ร้อยละ 36.8 และหญิง ร้อยละ 63.2 โดยเป็นครู ร้อยละ 12.8 และนักเรียนระดับประถมศึกษาตอนต้น (ป.1-3) ร้อยละ2.4 นักเรียนระดับประถมศึกษาตอนปลาย (ป.4-6) ร้อยละ 3.2 นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.1-3) ร้อยละ 38.4 นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.4-6) ร้อยละ 43.2 ส่วนใหญ่ อายุ 13-15 ปี และ 16-18 ปี ร้อยละ 87.2 พบว่า พฤติกรรมในการลดและแยกขยะ ยังไม่ถูกปฏิบัติอย่างจริงจัง และจำเป็นต้องดำเนินการให้เป็นวัฒนธรรมองค์กร ได้แก่ การพกขวดน้ำ การใช้ถุงผ้า เป็นต้น การรับความรู้ข้อมูล อยู่ในระดับปานกลางถึงมาก บุคลากร ส่วนใหญ่ระบุว่า การจัดการโครงการ ได้ใช้ผลิตภัณฑ์/วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในโครงการหรือกิจกรรม โดยเน้นการลดพลาสติกและโฟม และการวางแผนที่จะลดปริมาณขยะตั้งแต่ต้นทาง โดยส่วนใหญ่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับขยะมูลฝอยและขยะอันตราย ซึ่งสามารถระบุได้ว่าขยะนั้น จะนำไปฝังกลบหรือเผา และเกิดก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน รวมทั้งมลพิษอื่น ๆ และไมโคร พลาสติก ในส่วนของระดับความรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะ บุคลากรของโรงเรียนหัวเรือพิทยาคม เข้าใจหลักการ 3R คิดเป็นร้อยละ 49 ในขณะที่ร้อยละ 34.4 ไม่ทราบ รวมถึงแนวคิด Zero Waste ซึ่งมีถึงร้อยละ 41.6 ยังไม่ทราบสำหรับวิธีการที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาขยะ ส่วนใหญ่ ให้คำตอบเป็นแยกขยะ รีไซเคิลไปขายและลดการเกิดของขยะในชีวิตประจำวัน โดยพบว่า ปริมาณขยะที่เกิดขี้นจาก 3 พื้นที่ ได้แก่ โรงอาหาร สำนักงานและห้องพยาบาล และห้องเรียนและสันทนาการ มีค่าเท่ากับ 13.91 กิโลกรัมต่อวัน ซึ่งคิดเป็น 0.03 กิโลกรัม/คน/วัน (ข้อมูล ณ 21 สิงหาคม 2563) โดยพบว่า โรงอาหาร ส่วนใหญ่เป็นขยะเศษอาหาร รองลงมาคือ พลาสติก ส่วนสำนักงานและห้องพยาบาล พบว่า ขยะส่วนใหญ่ คือ กระดาษ พลาสติก และเศษอาหาร ในขณะที่ห้องเรียนและสันทนาการนั้น ส่วนใหญ่ เป็นพลาสติกและกระดาษ ซึ่งสะท้อนให้เห็นประเด็นการจัดการขยะที่ต้องทำอย่างเป็นระบบ
โดยเฉพาะขยะประเภทอินทรีย์และนำกลับมาใช้ใหม่ ปัจจุบัน ได้จัดวางถังขยะไว้ทั้งสิ้น 17 ถัง จากการอบรมเชิงปฏิบัติการ ยุวนวัตกร โรงเรียนปลอดชยะ ซึ่งเป็นนักเรียนที่ได้รับคัดเลือก ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและปลาย จำนวน 77 คน และผ่านการอบรมโดยโค้ชนำทาง (เป็นอยู่รู้ทัน) โค้ชชื้ทาง (คัดแยกแลกสุข) และโค้ชให้ทาง (แบ่งปันปั้นทาง) โดยประเมินความรู้ก่อนและหลัง ซึ่งมีคะแนนเต็ม 15 คะแนน
พบว่า นักเรียน มีคะแนนก่อนอบรม 10±2 (ค่าเฉลี่ย±ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน) คะแนน และคะแนนหลังอบรม
12±3 (ค่าเฉลี่ย±ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน) คะแนน ซึ่งเป็นต้นทุนของโรงเรียนในการขับเคลื่อนระบบการจัดการขยะ นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาหลักสูตรสหวิทยาการ เพื่อเสริมศักยภาพด้านการจัดการขยะโดยกิจกรรมชุมนุม ควบคู่กับการพัฒนาตรรกะด้านเรียนรู้ ตามแนวทาง Science Technology Engineering Art และ Mathematics (STEAM) โดยเป็นการ บูรณาการความร่วมมือของ 16 ชุมนุม ตามเจตนารมณ์ของโรงเรียน และมีชุมชนโดยรอบ เป็นผู้สนับสนุน ซึ่งเป็นการเริ่มต้นการดำเนินการจัดการขยะอย่างเป็นระบบและยั่งยืน โดยจะเริ่มดำเนินการเต็มระบบ ในภาคการเรียนศึกษา ปีการศึกษา 2564 เพื่อผลักดันสู่การเป็นต้นแบบโรงเรียนปลอดขยะและคาร์บอนต่ำ ตามนโยบายที่กำหนดไว้ต่อไป
ดาวน์โหลดไฟล์รายงานฉบับสมบูรณ์ ได้ที่
https://drive.google.com/file/d/1f_jSD-ITKbln4PJ-Y-jwV-Kj3Mk3siHC/view?usp=sharing
ที่มา: หน่วยปฏิบัติการวิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การบรรเทา และการปรับตัว (CMARE)
เผยแพร่ข่าวโดย : ชลทิตย์ สีเทา
ณ วันที่ : 23 มีนาคม 2564