
คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยหน่วยปฏิบัติการวิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การบรรเทา และการปรับตัว (CMARE) ได้เข้าร่วมเป็นวิทยากร ในการประชุมเชิงปฏิบัติการหัวข้อ “การสื่อสารสร้างความตระหนักรู้ในพื้นที่เครือข่ายอาสาเพื่อเตือนภัยในชุมชน (ครู ก)” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 รุ่นที่ 1 จัดโดยสำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ 2 ระหว่างวันที่ 10–11 มิถุนายน 2568 ณ โรงแรมลองบีช การ์เด้น โฮเต็ล แอนด์ สปา ตำบลนาเกลือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี โดยได้รับเกียรติจากนายพงศ์ธสิทธิ์ ปิจนันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เป็นประธานเปิดงาน และนางศิรทิพย์ ภาศรีสมบัติ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ 2 เป็นผู้กล่าวรายงาน
ในการนี้ ทีมวิทยากร ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิจากนางสาวสุนิสา โฮ Associate Programe Management Officer UNDRR ROAP สำนักงานเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ (UNDRR) ดร.ธายุกร พระบำรุง หน่วยปฏิบัติการวิจัย CMARE คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และนางสาววิภารัตน์ หนูปัทยา หน่วยวิจัยและพัฒนาสู่เมืองอัจฉริยะ (RDSC) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมกันถ่ายทอดองค์ความรู้ แนวทางการวิเคราะห์ความเปราะบางเชิงพื้นที่ การสร้างกลไกการแจ้งเตือนภัย และการเสริมศักยภาพอาสาสมัครในพื้นที่ให้สามารถวางแผนรับมือภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ
กลุ่มเป้าหมายและผู้เข้าร่วมอบรม
การอบรมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมจำนวน 175
คน ประกอบด้วย
- อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.)
- เจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.)
- เครือข่ายสภาเด็กและเยาวชน
- เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจาก 3 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นพื้นที่ชายฝั่งที่เผชิญความเสี่ยงจากพิบัติหลายรูปแบบ เช่น น้ำท่วมฉับพลัน พายุชายฝั่ง มลพิษจากอุตสาหกรรม และความเปราะบางของกลุ่มประชากร
ผลที่เกิดขึ้นจากการอบรม
- ผู้เข้าร่วมสามารถ วิเคราะห์ภัยพิบัติและกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ของตนเองได้อย่างเป็นระบบ
- เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากภาคปฏิบัติจริงของ อพม. และ อปท.
- มีการเสนอแนวทางสร้างกลไกใหม่ เช่น
- ศูนย์เฝ้าระวังภัยพิบัติระดับตำบล
- ฐานข้อมูลร่วมระหว่าง อพม. และ อปท.
- การพัฒนาบทบาทสภาเด็กให้มีส่วนร่วมในระบบเตือนภัยและฟื้นฟูหลังภัย
ข้อเสนอแนวทางผลักดันกลไกสู่รูปธรรม
เพื่อให้การขับเคลื่อนกลไกที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มเปราะบางในสถานการณ์ภัยพิบัติสามารถดำเนินได้อย่างเป็นรูปธรรม จำเป็นต้องมี
- การบรรจุบทบาท พมจ. และ อพม. ในแผนเผชิญเหตุระดับจังหวัด โดยเฉพาะบทบาทด้านศูนย์พักพิงและฐานข้อมูลประชาชนเปราะบาง
- การเชื่อมแผนภัยพิบัติเข้ากับแผนพัฒนาท้องถิ่น ผ่านสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
- การสนับสนุนงบประมาณเร่งด่วนจาก พมจ. ที่สามารถปรับตัวต่อภัยซับซ้อน
- การออกแบบระบบการสื่อสารที่เข้าถึงกลุ่มเปราะบาง โดยใช้เครื่องมือที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ คนพิการ เด็กและเยาวชน
ภารกิจของคณะสิ่งแวดล้อมฯ ผ่านหน่วยวิจัย CMARE ในครั้งนี้ จึงไม่เพียงแต่เป็นการบรรยายวิชาการ แต่เป็นการวางรากฐานเพื่อเสริมพลังการจัดการภัยพิบัติระดับชุมชน โดยใช้กลไกของ พม. เป็นแกนกลาง ร่วมกับท้องถิ่นและเครือข่ายอาสาสมัครในพื้นที่
ภาพและข่าว : คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์/ดร.ธายุกร พระบำรุง
เผยแพร่โดย : ชลทิตย์ สีเทา
ณ วันที่ : 11 มิถุนายน 2568