วันที่ 9 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยหน่วยปฏิบัติการวิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การบรรเทา และการปรับตัว (CMARE) ร่วมกับสำนักสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลเมืองมหาสารคาม ผลักดันการพัฒนาธรรมนูญสุขภาพสู่การเป็นนโยบายท้องถิ่น เพื่อการจัดการฝุ่นละอองขนาดเล็ก โดยชุมชน นำร่องชุมชนธัญญา1 2 และ 3 เป็นพื้นที่แรก โดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของหลายภาคส่วน ได้แก่ ผู้นำชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) สมาชิกสภาเทศบาลเมืองมหาสารคาม ชมรมผู้สูงอายุ ชมรมแต่งผมเสริมสวย คณะสงฆ์วัดธัญญาวาส และเทศบาลเมืองมหาสารคาม สถาบันการศึกษา (ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม) โดยเนื้อหาในธรรมนูญสุขภาพ ประกอบด้วย นิยามและความหมาย บุคคล หน่วยงาน และบทบาทหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ระบบสนับสนุนการสื่อสารของชุมชนที่มีการใช้งาน แหล่งกำเนิดของฝุ่นละอองขนาดเล็กในชุมชน แนวทางปฏิบัติที่ตกลงร่วมกัน และมาตรการบรรเทาผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก และแหล่งกำเนิดในชุมชนจากเวทีชุมชน ได้แก่ การเผาไหม้เชื้อเพลิงจากยานพาหนะ การประกอบอาหาร/ปิ้งย่าง การสูบบุหรี่ การเผาในที่โล่งแจ้ง ได้แก่ การเผาขยะ และการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร การก่อสร้าง ได้แก่ การสร้างถนน/อาคาร การปรับปรุงผิวการจราจร การรื้อถอนอาคารและสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ การก่อสร้างเพื่อติดตั้งหรือปรับปรุงระบบสาธารณูปโภค และแหล่งกำเนิดทางธรรมชาติ ได้แก่ ดอกธูปฤาษี และต้นตีนเป็ดหรือพญาสัตบรรณ (เฉพาะกลุ่มอ่อนไหว) และโดยคาดหวังผลลัพธ์ที่ยั่งยืน ซึ่งชุมชน สามารถยกระดับศักยภาพที่มีอยู่เดิม ได้แก่ การผ่านการประเมินการจัดการสิ่งแวดล้อมในวัด การไม่มีข้อร้องเรียนปัญหาด้านฝุ่นละอองขนาดเล็ก และความเข้มแข็งของผู้นำและเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุข ให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องและทุกคนได้รับประโยชน์
ภาพและข่าว : คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มมส / ดร.ธายุกร พระบำรุง
เผยแพร่โดย : ชลทิตย์ สีเทา
ณ วันที่ : 16 มิถุนายน 2566