วันที่ 4 ธันวาคม ของทุกปี เป็น “วันสิ่งแวดล้อมไทย” กำหนดขึ้นเพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงมีพระราชดำรัสถึงสถานการณ์สิ่งแวดล้อมของประเทศไทยและสถานการณ์สิ่งแวดล้อมโลก เมื่อครั้งเสด็จออกให้คณะบุคคลต่างๆ เข้าเฝ้าถวายพระพรชัยมงคลเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลา ดุสิดาลัย พระตำหนัก จิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2532 เพื่อตรัสเตือนคนไทยให้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก โดยเฉพาะปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก และให้ถือว่าเป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องร่วมมือกันแก้ไข้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้มีพระราชดำรัสใจความตอนหนึ่งว่า
“วันก่อนนี้เราพูดถึงปัญหาว่า เมืองไทยนี้อีกหน่อยจะแห้ง ไม่มีน้ำเหลือจะต้องไปซื้อน้ำจากต่างประเทศซึ่งก็อาจเป็นได้ แต่เชื่อว่าจะไม่เป็นอย่างนั้นเพราะว่าถ้าคำนวณดูน้ำในประเทศไทยที่ไหลเวียนนั้นยังมีอยู่ เพียงแต่ต้องบริหารให้ดี ถ้าบริหารให้ดีแล้ว มีเหลือเฟือ มีตัวเลขแล้ว แต่ว่ายังไม่ได้ไปแยกแยะตัวเลข เหมือนที่ได้แยกแยะตัวเลขของคาร์บอน น้ำนั้นน่ะ ในโลกมีมากแล้วที่ใช้จริงๆ มันเป็นเศษหนึ่งส่วนหมื่นของน้ำที่มีอยู่ อาจไม่ถึง ก็ต้องบริหารให้ดีเท่านั้นเอง เดี๋ยวนี้ก็มีปัญหาเกี่ยวกับน้ำ น้ำนี้จะต้องใช้ให้ดี คือ น้ำนั้นมีคุณอย่างที่เราใช้สำหรับบริโภค น้ำสำหรับการเกษตร น้ำสำหรับอุตสาหกรรมทั้งหมดนี้ต้องใช้น้ำที่ดี หมายความว่าน้ำที่สะอาด
น้ำมีมากในโลก เป็นน้ำทะเลส่วนใหญ่ซึ่งจะใช้อย่างนี้ไม่ได้แล้ว นอกจากนั้นเดี๋ยวนี้ที่กำลังมีมากขึ้นก็คือ น้ำเน่า จะต้องป้องกันไม่ให้มีน้ำเน่า น้ำเน่าจะมีอยู่เสมอ แต่อย่าให้น้ำเน่านั้นเป็นโทษมากเกินไป ฉะนั้น นี่เป็นอีกโครงการหนึ่งที่เราจะต้องปฏิบัติ แล้วก็ถ้าไม่จัดการโดยเร็วเราจะนอนอยู่ในน้ำเน่า น้ำดีจะไม่มีใช้แม้จะไปซื้อน้ำจากต่างประเทศมา ก็กลายเป็นน้ำเน่าหมด เพราะว่าเอามาใช้โดยไม่ได้ระมัดระวัง
ถ้าเรามีน้ำแล้วมาใช้อย่างระมัดระวังข้อหนึ่ง และควบคุมน้ำที่เสียอย่างดีอีกข้อหนึ่ง ก็อยู่ได้ เพราะว่าภูมิประเทศของประเทศไทย “ยังให้” ใช้คำว่า “ยังให้” ก็หมายความว่า ยังเหมาะแก่การอยู่กินในประเทศนี้ ไม่ใช่ไม่เหมาะ ประเทศไทยนี้เป็นที่ที่เหมาะมากในการตั้งถิ่นฐาน แต่ว่าต้องรักษาเอาไว้ไม่ทำให้ประเทศไทยซึ่งเป็นสวนเป็นนากลายเป็นทะเลทรายก็ป้องกันได้ ทำได้”
จากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นับเป็นจุดเริ่มต้นในการเคลื่อนไหวของทุกฝ่าย ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่หันมาร่วมมือกันริเริ่มโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงเป็นการปลูกจิตสำนึกของประชาชนให้มีจิตสำนึกในการเห็นความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ
จากนั้นเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2534 ในการประชุมของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ประชุมจึงมีมติเห็นชอบ กำหนดให้วันที่ 4 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันสิ่งแวดล้อมไทย
ที่มา เดลินิวส์ออนไลน์
ภาพและข่าว : คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ / ชลทิตย์ สีเทา
เผยแพร่โดย : ชลทิตย์ สีเทา
ณ วันที่ : 3 ธันวาคม 2567